นอกจากการมีพนักงานประจำหรือจะเรียกว่า ฟูลไทม์ แล้ว หลาย ๆ หน่วยงานก็มักนิยมเลือกใช้บริการบรรดาพนักงาน พาร์ทไทม์ หรือคนที่ทำงานเป็นช่วงเวลา ไม่ได้มีสัญญาการทำงานระยะยาวด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายกับงานบางประเภทที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนภายในบริษัทให้เสียเวลามากนัก แต่หลาย ๆ ครั้งสิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับการจ้างพนักงานพาร์ทไทม์คือ อยู่ดี ๆ พวกเขาเหล่านั้นก็มักทิ้งงานไปแบบเฉย ๆ ไม่มีคำบอกกล่าวหรือเหตุผลใด ๆ ทั้งสิ้น ส่งผลให้งานเองมีปัญหา ไม่สามารถเสร็จได้ตามระยะเวลาที่กำหนด แล้วแบบนี้จะเลือกจ้างพาร์ทไทม์ยังไงไม่ให้โดนเท มีเทคนิคดี ๆ มาบอก
1. แจ้งรายละเอียดงานต่าง ๆ ให้ครบถ้วน
สิ่งแรกเลยที่นายจ้างทุกคนควรทำคือ บอกรายละเอียดงานต่าง ๆ ให้ครบถ้วนว่าการเข้ามาทำเป็นพนักงานพาร์ทไทม์นั้นมีหน้าที่อะไรบ้าง แนะนำว่าให้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนเพื่อจะได้มีหลักฐานให้ครบถ้วนเมื่อพนักงานพาร์ทไทม์ไม่ได้ทำตามรายละเอียดที่ระบุเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในการตัดสินใจให้กับคนที่จะเข้ามาทำงานแบบพาร์ทไทม์ด้วยว่ารับรายละเอียดของเนื้องานได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งการแจ้งรายละเอียดต้องมีลงเรื่องของผลตอบแทนเอาไว้เสมอ เป็นการยืนยันและความสบายใจทั้ง 2 ฝ่ายว่าไม่มีความลับปกปิดต่อกัน
2.มีการเซ็นสัญญาทำงาน
การเซ็นสัญญาทำงานถือเป็นข้อผูกมัดที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้นทั้งกับฝ่ายผู้จ้างและฝ่ายพาร์ทไทม์เองว่าต้องดำเนินการตามรายละเอียดที่ระบุในสัญญาอย่างชัดเจนที่สุด ทั้งนี้การเขียนรายละเอียดสัญญาต้องให้ฝ่ายพาร์ทไทม์เองศึกษาข้อกำหนด ระเบียบการทำงานต่าง ๆ อย่างเข้าใจ พร้อมเน้นย้ำว่าเมื่อเซ็นยืนยันเรียบร้อยแล้วต้องปฏิบัติให้ถูกต้องเท่านั้น เพื่อทางฝั่งผู้จ้างจะได้ไม่เกิดปัญหาการทิ้งงานตามมาภายหลัง และยังเป็นการยืนยันของทางฝั่งพาร์ทไทม์ด้วยว่ายินดีที่จะรับผิดชอบงานตามที่นายจ้างได้มอบหมายงานเอาไว้ให้
3. มีการยืดหยุ่นลักษณะการทำงานบ้าง ไม่ต้องแข็งไปทุกเรื่อง
อย่างที่รู้ว่าพนักงานพาร์ทไทม์ส่วนใหญ่คือนักเรียน นักศึกษา ที่หาเวลาว่างมาทำงานเพื่อจะได้มีเงินเอาไว้ใช้ในสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่ต้องขอพ่อแม่ตลอด ในฐานะของการเป็นผู้จ้างที่ดีและอยากให้ตัวของพนักงานเองทำกับคุณไปนาน ๆ ก็ต้องมีการยืดหยุ่นกฎเกณฑ์บางข้อที่ไม่ได้รุนแรงจนเกินไป เพื่อให้คนทำงานรู้สึกว่าพวกเขาก็ได้รับความเมตตา มันจะยิ่งช่วยเพิ่มความรัก ความเอาใจใส่ในการทำงานให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่น บางครั้งพนักงานขอเข้าช้าเพราะติดธุระก็ว่ากันไปตามเหตุผล, ขอเลิกงานก่อนก็ถามเหตุผล ไม่ใช่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับหมด แบบนี้คงไม่มีใครอยากทำงานกับคุณนาน ๆ แน่นอน
4. มีสวัสดิการบางอย่างเพื่อเป็นแรงจูงใจ
หลาย ๆ หน่วยงานมักมองว่าพนักงานพาร์ทไทม์ ไม่ได้มีการเข้างานเป็นระยะเวลาแน่นอน ไม่ได้ทำงานครบถ้วนตามกฎหมายแรงงานปกติ จึงไม่จำเป็นต้องมีสวัสดิการใด ๆ ให้ก็ได้ ทว่าอันนี้เป็นเรื่องของมนุษยธรรมและความมีเมตตากับบรรดาน้อง ๆ พาร์ทไทม์ทั้งหลาย บางทีอาจเพิ่มสวัสดิการเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้พวกเขามีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น หรืออาจมีการให้ผลตอบแทนเพิ่มเติมจากเดิม เป็นการตอบแทนความคุ้มค่ากับการทุ่มเททำงานอย่างขยันขันแข็ง เช่น โครงการช่วยเหลือเมื่อเจ็บป่วย, การทำประกันชีวิต, เทศกาลก็มีเงินพิเศษให้, กรณีทำร้านอาหารหากอาหารขายไม่หมดก็แบ่งให้กลับไปทานที่บ้าน เป็นต้น
5. ตรวจสอบประวัติการทำงานและมีการสัมภาษณ์อย่างละเอียด
การรับพนักงานพาร์ทไทม์เพื่อเข้าทำงานไม่ใช่แค่ใครสมัครแล้วก็เลือกหมดทุกคน แต่การจ้างงานที่ดีควรมีการตรวจสอบประวัติทั้งการเรียนและการทำงานให้ครบถ้วน ดูพฤติกรรมต่าง ๆ ว่าเหมาะสมกับการทำงานมากน้อยเพียงใด ไม่ลาออกจากงานบ่อย, ไม่เกเร หรือ สร้างปัญหาให้กับการทำงานที่เดิม รวมถึงควรมีการสัมภาษณ์เพื่อรับรู้ถึงทัศนคติในการทำงานด้วย การสัมภาษณ์ไม่ใช่แค่ทำให้เป็นพิธีเท่านั้นแต่ต้องทำอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหากเลือกพนักงานคนนี้เข้ามาทำแล้วจะไม่ก่อความเสียหายในด้านต่าง ๆ ให้กับองค์กร
6. มีการวัดผลการทำงานอยู่เสมอ
การตรวจสอบและวัดผลการทำงานจะช่วยให้ผู้จ้างรับรู้ได้ว่า การทำงานของพนักงานพาร์ทไทม์คนนี้เป็นอย่างไร อีกทั้งตัวพนักงานเองก็ได้รู้ว่าเขาปฏิบัติได้เหมาะสมแล้วหรือยัง เป็นการรีเช็คตนเองทั้งสองฝ่ายเพื่อให้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์การทำงานที่ตรงกัน การตรวจสอบและวัดผลนี้มีด้วยกันหลายวิธี เช่น ให้หัวหน้างานประเมินเป็นรายเดือน, มีการทำแบบทดสอบประเมินตนเอง, สังเกตจากพฤติกรรมการทำงานในแต่ละวัน การเข้างาน-ออกงาน ความขยันขันแข็ง ความตั้งใจในการเรียนรู้งาน เป็นต้น เข้าใจดีว่าสมัยนี้การรับแต่พนักงาน ฟูลไทม์ เพียงอย่างเดียอาจไม่ตอบโจทย์สำหรับลักษณะธุรกิจหลาย ๆ ประเภท แต่การจะมองหาพนักงานพาร์ทไทม์ก็จำเป็นต้องมีวิธีในการคัดเลือกรวมถึงสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน ไม่อย่างนั้นคิดทั้ง 2 มุม ก็คงไม่มีใครอยากเข้ามาทำงานเป็นพาร์ทไทม์ บริษัทเองก็ไม่สามารถหาคนเข้ามาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระงานต่าง ๆ ได้ หากทุกอย่างลงตัวนั่นเท่ากับว่าทั้งฝ่ายผู้จ้างและฝ่ายพาร์ทไทม์ก็ได้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่มีฝ่ายใดเสียเปรียบ
ขอให้ได้งานดีมีวันดีทุกวันครับ